:: ประวัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการฯ จ.ตรัง ::

จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 828 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดของจังหวัดในภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีอาณาเขตติดต่อกับ จังหวัดพัทลุง สตูล กระบี่ และนครศรีธรรมราช มีประชากร 590,851 คน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543)


มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภายใต้การบริหารงานของศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมา ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2546) ได้มองเห็นว่าการพัฒนา "คน" เป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดของการนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ปีหนึ่ง ๆ จะมีนักเรียนที่จบหลักสูตรสายสามัญศึกษา สายอาชีพศึกษา ตลอดจนผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนมีจำนวนมากขึ้น นักศึกษาจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นตลาดวิชาเปิดรับนักศึกษาไม่จำกัดจำนวน มีสาขาวิชาหลากหลายให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนได้ตามความสนใจของตน มีระบบการศึกษาสามารถเลือกวิธีเรียนตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละบุคคลมหาวิทยาลัยจัดให้มีการ บรรยายในชั้นเรียน สำหรับนักศึกษาที่ต้องการเข้าฟังการบรรยายเป็นประจำ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเข้าฟังคำบรรยายในชั้นเรียนได้สม่ำเสมอ มหาวิทยาลัยมีสื่อการเรียนที่ผู้เรียนการสอนทางไกล อาทิ การบรรยายผ่านวิทยุโทรทัศน์ และสื่อการเรียนในรูปของ E-book และ E-learning และ RU Cyberclassroom


ศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข
ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง
สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จ.ตรัง

แต่ละปีจะมีนักศึกษาใหม่สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นจำนวนมากประมาณกว่าหนึ่งแสนคน ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก ทำให้สถานที่ของมหาวิทยาลัยค่อนข้างแออัด ส่งผลกระทบต่อการจราจรรอบนอกมหาวิทยาลัย อีกทั้งความแออัดของที่พักของนักศึกษาที่มาจากต่างจังหวัด ศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข จึงมีความคิดในการปรับกลยุทธ์การบริหารและการจัดการศึกษาจากการรวมศูนย์การเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยในส่วนกลางแต่เพียงที่เดียว เป็นการขยายห้องเรียนออกไปสู่ภูมิภาค และขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่พื้นที่ห่างไกล เพื่อสนองต่อการเรียกร้องให้มีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการสร้างสรรค์ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้แก่ผู้ที่ใฝ่หาความรู้ในส่วนภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ ยกคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แนวทางหนึ่ง

มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พิจารณาเห็นว่า ปี พ.ศ. 2539 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี มหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำ "โครงการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ส่วนภูมิภาค" เนื่องเพราะได้น้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงเหนื่อยยาก อุทิศพระวรกายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงได้น้อมเกล้าถวาย "สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ" เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ร่วมเฉลิมฉลองปีกาญจนาภิเษกพร้อม ๆ กับประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ

การก่อตั้ง "มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ" ในภูมิภาค เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ ในปี พ.ศ. 2538 และขยายสาขาออกไปตามความต้องการและความพร้อมของท้องถิ่นแต่ละแห่ง ที่ต้องการให้มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในท้องถิ่นเพื่อให้เยาวชนและประชาชนในท้องถิ่นของตนได้มีโอกาสเพิ่มพูน

สำหรับสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง เป็นสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลำดับที่ 12 เริ่มการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2543 สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรังแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการผลักดันของจังหวัดตรัง เทศบาลนครตรัง หอการค้าจังหวัดตรัง และผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดตรังที่ต้องการสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทและปริญญาเอกในอนาคต ทั้งนี้เพื่อต้องการใช้เยาวชนในท้องถิ่นได้รับการศึกษาสูงขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร นอกจากเป็นการช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของครอบครับแล้ว ยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาทางครอบครัวและปัญหาทางสังคมได้แนวทางหนึ่ง การขยายโอกาสทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาสู่ภูมิภาค ซึ่งมีการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทนี้ นับได้ว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2540-2550) ของจังหวัดตรังไว้ว่า "เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา เมืองอุตสาหกรรมการเกษตร เมืองส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและประเพณีวัฒนธรรม" และสอดคล้องกับนโยบายการบริหารงานของเทศบาลนครตรัง ภายใต้การบริหารงานของนายชาลี กางอิ่ม นายกเทศมนตรีนครตรัง ที่เห็นว่า "การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างประเทศชาติให้เจริญมั่นคงอย่างยั่งยืน" ด้วยเหตุดังกล่าว จังหวัดตรัง เทศบาลนครตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง หอการค้าจังหวัดตรัง และมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงได้ร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง

ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2542 เวลา 21.30น. ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง (นายทักษิณ วิประกษิต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ( ศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้บริหารการศึกษาของจังหวัดตรัง คือ ผู้อำนวยการการสามัญศึกษาจังหวัดตรัง (นายเจตน์ กุลบุญ) ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดตรัง (นายแผ้ว รุจิรนันทะบุตร) ผู้อำนวยการโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง (นายปิ่น สุวรรณะ) ได้เข้าพบ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก ณ จังหวัดตรัง เพื่อเสนอโครงการการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ให้ ฯพณฯ ทราบ ซึ่ง ฯพณฯ มีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และมอบหมายให้ประธานหอการค้าจังหวัดตรังประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์) ต่อไป

คณะผู้บริหารเข้าพบ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย
เพื่อเสนอโครงการการก่อตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง
 
     
 

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2543 ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง (นายทักษิณ วิประกษิต) นายกเทศมนตรีนครตรัง (นายชาลี กางอิ่ม) นายกองค์การบริการส่วนราชการจังหวัดตรัง (นายกิจ หลีกภัย) ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดตรัง(นายวิเชียร ศรีเรือง) ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดตรัง (นายเจตน์ กุลบุญ) ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดตรัง (นายแผ้ว รุจิระนันทบุตร) ผู้อำนวยการโรงเรียนสภาราชินี (นายปิ่น สุวรรณะ) เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตรัง (นายสลิล โตทับเที่ยง) ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง (นายมานิตย์ วงษ์สุรีย์รัตน์) ครูใหญ่โรงเรียนวัฒนาศึกษา (อาจารย์สุดจิต มะนะสุทธิ์) ได้มีการประชุมร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข) และคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ ห้องประชุมโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง เพื่อปรึกษาหารือแนวทางการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นตรงกันในการก่อตั้งโครงการดังกล่าว โดยในหลักการ จังหวัดตรังจะเป็นผู้รับภาระในการจัดหาที่ดิน และการก่อสร้างอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศทุกรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อใช้สำหรับการบริหารและการจัดการศึกษา


แรกเดิมมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ขออนุญาตใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง แต่จังหวัดได้พิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความไม่เหมาะสมหลายประการ อีกทั้งเป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อป้องกันการเกิดสภาวะน้ำท่วม และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถมที่ดินเป็นจำนวนมาก ต่อมาผู้แทนของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายกองค์การบริหารจังหวัดตรัง (นายกิจ หลีกภัย) นายอำเภอเมืองตรัง (นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์) ได้ประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลนาบินหลา ได้จัดหาพื้นที่ใหม่ให้แก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้สถานที่สาธารณประโยชน์ทุ่งหัวโหด หมู่ที่ 5 ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลนาบินหลา อำเภอเมืองตรัง พื้นที่จำนวน 86 ไร่ (มีกำนันชะเอม ดำจุติ ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลนาบินหลา เป็นผู้ดูแลพื้นที่) เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2543 จังหวัดตรัง โดย ท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง (ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในขณะนั้น) นายชาลี กางอิ่ม (นายกเทศมนตรีนครตรัง) นายกิจ หลีกภัย (นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง) นายสลิล โตทับเที่ยง (เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตรัง) รองศาสตราจารย์อรุณทวดี พัฒนิบูลย์ (รองอธิการบดีทั่วไป) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และรองศาตราจารย์เพชราภรณ์ จันทรสูตร์ รักษาการรอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการ จังหวัดตรัง ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทุกแขนงในจังหวัดตรัง เรื่อง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ณ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา

การประชุมเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง
สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ณ โรงแรมธรรมรินทร์ธนา
     
 

10 สิงหาคม 2543

ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาบินหลา สมัยสามัญครั้งที่ 2/2543 นายอำเภอเมืองตรัง (นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์) แจ้งเรื่องการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ ที่สาธารณะทุ่งหัวโหด หมู่ที่ 5 ตำบลนาบินหลา ว่า "ผู้มีส่วนผลักดันที่สำคัญให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่จังหวัดตรัง คือ ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง คนปัจจุบัน (นายทักษิณ วิประกษิต) เดิมจะใช้พื้นที่ในเขตตำบลนาตาล่วงเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้บ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครตรัง และต้องใช้งบประมาณมากในการถมที่ดังกล่าว ประกอบกับเมื่อถมที่แล้วอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมรอบ ๆ บริเวณได้ จึงได้พิจารณาจัดหาพื้นที่ใหม่ โดยขอใช้ที่สาธารณะ หมู่ที่ 5 ตำบลนาบินหลา และขอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาบินหลา พิจารณาความเหมาะสม เพื่อจะให้ตำบลนาบินหลาเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งใหม่ ซึ่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลนาบินหลา (นายชะเอม ดำจุติ) กล่าวว่า การจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง จะก่อประโยชน์ให้แก่ลูกหลานชาวจังหวัดตรังเป็นอย่างยิ่ง สมาชิกชาวนาบินหลามีความยินดีและไม่คัดค้านการขอใช้ที่สาธารณะประโยชน์ หมู่ที่ 5 ตำบลนาบินหลา ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ ที่สาธารณะทุ่งหัวโหด

คณะผู้บริหารดูพื้นที่ก่อนการก่อสร้าง

23 สิงหาคม 2543

ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์) แจ้งอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทราบว่า ทางจังหวัดตรังได้จัดหาพื้นที่แห่งใหม่ให้แก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำหรับใช้เป็นสถานที่จัดตั้ง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ที่ตำบลนาบินหลา อำเภอเมืองตรัง จำนวนประมาณ 86 ไร่ เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลนาบินหลา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

ระหว่างเดือน สิงหาคม 2543 สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ได้รับความอนุเคราะห์จากนายทักษิณ วิประกษิต สนับสนุนค่าใช้จ่าย จำนวนเงิน 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาท) สำหรับการปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง พร้อมสนับสนุนเครื่องจักร น้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมช่าง ช่วยปรับสภาพป่ารกให้เรียบร้อยเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการก่อสร้าง

สภาพพื้นที่ก่อนการก่อสร้าง
 
 
สภาพพื้นที่หลังจากมีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง
 

ในระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 2 ครัวเรือน ซึ่งอาศัยอยู่บนที่ดินสาธารณะประโยชน์แห่งนี้มาเป็นระยะเวลานาน บ้านหลังแรกที่แก้ปัญหาได้สำเร็จ เป็นครอบครัวของนายแปลก กาญจนพรหม โดยการจัดซื้อที่ดินที่ตำบลนาบินหลาเนื้อที่ 101 ตารางวา ให้ในราคา 50,000 บาท โดยได้รับความอนุเคราะห์จากรองศาสตราจารย์เพชราภรณ์ จันทรสูตร์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 และให้วัสดุก่อสร้างเพื่อนำไปปลูกสร้างบ้านหลังใหม่มูลค่าประมาณ 20,000 บาท และเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 นายแปลก กาญจนพรหม ได้รับมอบหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธ์เจ้าของที่ดินจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายสงวน จันทรอักษร) ในพิธีแถลงข่าวเปิดโครงการก่อสร้างอาคารมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ในเบื้องต้น

มอบหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดินแก่ นายแปลก กาญจนพรหม
 
 

ครัวเรือนชาวบ้านหลังที่ 2 เป็นครอบครัวของนายแปลก เพ็ชรสุทธิ์ เนื่องจากนายแปลก เพ็ชรสุทธิ์ ไม่สามารถหาที่ดินที่ตรงกับความต้องการได้ จึงขอรับเงินสดจำนวนเงิน 60,000 บาท ที่คณะนักศึกษาชั้นปริญญาโทสาขาวิชาบริหารธุรกิจรุ่นที่ 1 ของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ร่วมกันบริจาค โดยนายแปลก เพ็ชรสุทธิ์ ลงนามในหนังสือแสดงเจตนารับเงิน ที่ได้จัดร่างโดยนักศึกษาชั้นปริญญาโท สาขาวิชารัฐศาสตร์รุ่นที่ 1 ที่ประกอบอาชีพเป็นทนายความ คือ นายสุเทพ หม่อมวงศ์ และนายเพ็ชรไท ภู่สันติสัมพันธ์ และนายแปลก เพ็ชรสุทธิ์ ได้รับเงินที่นักศึกษาได้มอบให้จากรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายอานนท์ มนัสวานิช) ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ตามคำแนะนำของท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 โดยมีนักศึกษาชั้นปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการปฎิบัติงานที่ศาลากลางจังหวัดตรังร่วมเป็นสักขีพยาน นับได้ว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ได้แก้ไขปัญหาชาวบ้านบุกรุกที่ดินสาธารณะที่มหาวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์ในงานของทบวงของรัฐในปัจจุบันได้สำเร็จโดยไม่มีข้อขัดแย้งแต่ประการใด


เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 เวลา 14.00น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดหาทุนการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง เพื่อหาแนวทางการดำเนินการจัดหาทุนและก่อตั้งมหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมการประชุมหลายฝ่าย ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นายกเทศมนตรีนครตรัง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง นายกเทศมนตรีเมือง / และตำบลทุกแห่งของจังหวัดตรัง นายอำเภอทุกอำเภอ ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดตรัง ประธานชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดตรัง สมาชิกสภาเทศบาลนครตรัง และรองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการ จังหวัดตรัง

ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้กำหนดแนวทางการหาทุน ดังนี้

1. ทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา
โดยมีจังหวัดตรัง เทศบาลนครตรัง เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบลทุกแห่งในจังหวัดตรัง (รวม 14 เทศบาล) อำเภอ 10 อำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล 85 แห่ง หอการค้าจังหวัดตรังชมรมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงจังหวัดตรังและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมกันดำเนินการหาทุนตามศักยภาพของแต่ละองค์กร
2. รับบริจาคหน่วยงานและองค์การอื่น ๆ รวมทั้งประชาชนทั่ว ๆ ไป


มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ออกแบบวางผังแม่บทของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง เป็นผังบริเวณและรูปแบบอาคารทั้งหมดของพื้นที่ประมาณ 76 ไร่ ในเบื้องต้นได้ทำการก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น ต่อมาชื่อว่า "อาคารศรีตรัง" สำหรับนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีและนักศึกษาปริญญาโทโครงการพิเศษ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน และอาคารอเนกประสงค์ต่อมาชื่อ "อาคารหลักศิลา" ประกอบด้วยห้องบรรยายระดับชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งมีการเรียนการสอนด้วยระบบการสื่อสาร 2 ทาง ทางไกลผ่านดาวเทียม 2 ระบบ ห้องสมุดอัตโนมัติ ห้องปฎิบัติการคอมพิวเตอร์ และห้องประชุม มีโรงอาหาร 1 หลัง ห้องน้ำรวม เสาธง ป้ายมหาวิทยาลัย รั้วบางส่วน โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างตาม สัญญาหลัก ไม่รวมการก่อสร้างองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติมและอุปกรณ์ครุภัณฑ์ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 43,200,000 บาท (สี่สิบสามล้านสองแสนบาทถ้วน) มีศาลาพักผ่อน 3 หลัง ๆ ละ 200,000 บาท ศาลาแต่ละหลังได้รับบริจาคจาก นายตรังปกรณ์ พรพิมลวัฒน์ นายไมตรี จันทรสูตร์ และห้างหุ้นส่วนจำกัด วรนิทัศน์ และต่อเติมรั้วและเพิ่มเติมงานก่อสร้างในอาคารหลายรายการให้สมบูรณ์ ด้วยความเห็นชอบจากคณะผู้ว่าจ้างและผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งนี้เพื่อให้การใช้อาคารและสถานที่เกิดประโยชน์สูงสุดทางราชการ โดยใช้วัสดุการก่อสร้างและค่าก่อสร้างจากเงินบริจาคที่ได้รับบริจาคเพิ่มเติม มูลค่าประมาณ 1,400,000 บาท (หนึ่งล้านสี่แสนบาทถ้วน) เงินค่าก่อสร้างตามสัญญาหลักนี้ เป็นเงินอุดหนุนงบประมาณค่าก่อสร้าง ซึ่งได้รับจากองค์กร / หน่วยงาน / บุคคลดังต่อไปนี้

เทศบาลนครตรัง 30,000,000.00 บาท
เงินบริจาค ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหง 5,339,890.50 บาท
นายทักษิณ วิประกษิต (ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง) 1,600,000.00 บาท
องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง 1,500,000.00 บาท
นายสวัสดิ์ ฮุนตระกูล 1,017,980.00 บาท
อำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดตรัง 1,032,129.50 บาท
นายยิม ธนังธีรพงศ์ 1,000,000.00 บาท
องค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดตรัง 930,000.00 บาท
เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล 780,000.00 บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 43,200,000.00 บาท
(สี่สิบสามล้านสองแสนบาทถ้วน)

ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ และดำเนินงานการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง เป็นไปตามมติที่ประชุม คณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ที่มีความเห็นตรงกันในหลักการว่า จังหวัดตรังจะเป็นผู้รับภาระในการจัดหาที่ดินและก่อสร้างอาคาร มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นผู้จัดหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทุกรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อใช้สำหรับการบริหารและการจัดการศึกษา

อาคารมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง นี้ มีมูลค่าของอาคารโดยแท้จริงตามรูปแบบแปลนเดิมประมาณราคา 48 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2544 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วรนิทัศน์ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำเป็นรายที่ 2 ยินดีรับจ้างก่อสร้างในราคาต่ำก่อสร้างที่วงเงิน 43,200,000 บาท ตามราคาที่ปรับลดลงมาร้อยละ 10 ของราคากลาง ตามมาตราการปรับลดราคาสิ่งก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐร้อยละ 10 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2543

สัญญาจ้างการก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2544 มีนายกเทศมนตรีนครตรัง เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างอาคารมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีคณะผู้ว่าจ้าง 4 ท่าน คือ


1. ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง


??????????? ?????????

นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์

2. นายกเทศมนตรีนครตรัง


??????? ??????

นายชาลี กางอิ่ม
3. ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง

????????? ?????????

นายทักษิณ วิประกษิต
4. รองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการ จังหวัดตรัง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2543-2545



รองศาตราจารย์เพชราภรณ์ จันทรสูตร์

แกนนำทุกฝ่ายร่วมกันในการทำพิธีขึ้นเสาต้นแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งนี้
บุคคลในภาพ เริ่มจากซ้ายมือ นายจบ แก้วพิบูลย์ (ประธานนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา) นายสมจิต สุจริตชีววงศ์ (รองเลขาธิการหอการค้า จังหวัดตรัง) นายแผ้ว รุจีระนันทบุตร (ผู้อำนวยการการประถมศึกษา จังหวัดตรัง) นายทักษิณ วิประกษิต (ประธานหอการค้า จังหวัดตรัง) นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ (นายอำเภอเมืองตรัง) นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง) นายชะเอม ดำจุติ (กำนันตำบลนาบินหลา) นายชาลี กางอิ่ม (นายกเทศมนตรีนครตรัง) นายกิจ หลีกภัย (นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด) รองศาสตราจารย์เพชราภรณ์ จันทรสูตร์ (รองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการ จังหวัดตรัง) นายสลิล โตทับเที่ยง (เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตรัง)

มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ได้ทำพิธีขึ้นเสาต้นแรกของอาคารเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2544 โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์) เป็นประธานในพิธี ใช้เวลาในการก่อสร้างอาคารทั้งหมดครบถ้วนตามแบบแปลนเป็นเวลา 228 วัน

โดยมีคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้าง ประกอบด้วย

- ผู้อำนวยการส่วนการควบคุมการก่อสร้างและผังเมืองเทศบาลนครตรัง (นายพีระ กุลวนิช)
- หัวหน้างานวิศวกรรมโยธา เทศบาลนครตรัง (นายประทีป วงศ์กรเชาวลิต)
- นายช่างโยธา เทศบาลนครตรัง (นายวิชิต เตียวย่อง)

คณะกรรมการตรวจการจ้าง ประกอบด้วย

- รองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการ จังหวัดตรัง (รองศาตราจารย์เพชราภรณ์ จันทรสูตร์)
- ผู้อำนวยการสำนักการช่าง เทศบาลนครตรัง (นายมนัส ชัยนิคม)
- โยธาธิการจังหวัดตรัง (นายพีระพล สาครินทร์)
- เร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดตรัง (นายสุจริต อรรถศาสตร์ศรี)
- เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตรัง (นายสลิล โตทับเที่ยง)
- หัวหน้าฝ่ายควบคุมการก่อสร้าง เทศบาลนครตรัง (นายวิจักษ์ วิระชาญชัย)
- และหัวหน้าฝ่ายพัฒนารายได้ เทศบาลนครตรัง (นายสาโรช คงนคร)

ผู้รับจ้าง (คือห้างหุ้นส่วนจำกัด วรนิทัศน์) ตกลงรับเงินค่าจ้างทั้งหมดเป็นวงเงินเดียวในงวดสุดท้าย การตรวจการจ้างรับงานแบ่งออกเป็น 5 งวด งวดแรกเริ่ม เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 และงวดสุดท้ายตรวจรับงานเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2544 มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้าง คณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้รับจ้าง ณ บริเวณหน้างานการก่อสร้างปรากฎผลงานออกมาเป็นที่พึ่งพอใจของทุกฝ่าย

สาเหตุที่ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายเงินค่าจ้างเป็นงวดเดียว เนื่องจากเงินค่าก่อสร้าง จำนวน 43.2 ล้านบาทนี้ เป็นเงินอุดหนุนงบประมาณค่าก่อสร้างและเงินบริจาคทั้งหมดไม่ได้อาศัยเงินงบประมาณจากรัฐบาลแต่อย่างใด เงินบริจาคนี้ได้สะสมเก็บไว้ในธนาคารกรุงไทย สาขาทับเที่ยง ชื่อบัญชีคือ "มหาวิทยาลัยรามคำแหง กองทุนเพื่อการจัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง" มีท่านผู่ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์) เป็นประธานกองทุน ฯ นายกเทศมนตรีนครตรัง (นายชาลี กางอิ่ม) และประธานหอการค้าจังหวัดตรัง (นายทักษิณ วิประกษิต) เป็นรองประธานและรองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการ จังหวัดตรัง มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเหรัญญิกกองทุน ฯ ทั้ง 4 ท่านดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินค่าก่อสร้างและมีเงื่อนไขในการถอนเงินจากบัญชีคืออย่างน้อยสามในสี่
ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2544 บัญชีดังกล่าวมีเงินอยู่ในบัญชี 41,649,507.21 บาท และตัวเลขไม่ได้เคลื่อนไหวอีกเลย จากตัวเลขในบัญชีเมื่อบวกลบแล้วปรากฎว่าจะต้องมีเงินอีก 1,550,492.79 บาท จึงจะมีเงินครบ 43,200,000 บาท เป็นเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้าง จำนวนเงินที่ขาดอยู่นี้ได้รับการเติมเต็มด้วยความกรุณาจาก นายทักษิณ วิประกษิต ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง ได้บริจาคเงินส่วนตัว ทำให้การดำเนินงานการก่อสร้างลุล่วงประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้และมีเงินคงเหลือจากบัญชี จำนวน 49,507.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทย สาขาทับเที่ยง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 จำนวนเงิน 8,239.57 บาท รวมเงินคงเหลือ 57,746.78 บาท ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งและก่อสร้างอาคารมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ได้อนุญาตให้จำนวนนี้ไปใช้เพื่อพัฒนาบริเวณพื้นที่รอบอาคารมหาวิทยาลัยแห่งนี้ต่อไป


แม้ว่าการก่อสร้างอาคารมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ตามสัญญาหลักจะสิ้นสุดสำเร็จตามเป้าหมาย แต่การพัฒนาบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการต่อไปอีกมากมาย มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ร่วมกับหอการค้าจังหวัดตรัง จึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ชื่อว่ารุ่น "สร้างที่เรียนให้ลูก" โดยได้จัดบริจาคทุนสร้างวัตถุมงคงจาก นางสาวจุฑารัตน์ ประเสริฐบัญชาชัย ซึ่งเป็นศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และกรรมการหอการค้าจังหวัดตรัง พระพิมพ์หลวงปู่ทวดมี 2 รูปแบบ คือ แบบผงเนื้อขาว ผลิตจำนวน 1,000 องค์ ๆ ละ99 บาท รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย สมทบทุนการก่อสร้างอาคารและพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง

การก่อสร้างอาคารสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง

อาคารสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ประกอบด้วย

1. อาคารศรีตรัง (อาคารเรียน 3 ชั้น) ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 13,000,000 บาท
อาคารศรีตรัง


2. อาคารหลักศิลา (อาคารเอนกประสงค์) ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 26,300,000 บาท
อาคารหลักศิลา


3. อาคารโรงอาหาร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 2,000,000 บาท

 

4. อาคารห้องน้ำรวม ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1,200,000 บาท
อาคารห้องน้ำรวม

 

5. ป้ายชื่อมหาวิทยาลัย เสาธงและรั้วคอนกรีต(บางส่วน) ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 700,000 บาท
 

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรังได้ทำพิธีมอบเงินค่าก่อสร้างและแถลงข่าวปิดโครงการก่อสร้างอาคารมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ณ ห้องบรรยาย 1 อาคารหลักศิลา โดยมีนายสงวน จันทรอักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธี
 
     
 
     
 

ผู้ลงนามในบันทึกการจ่ายเงินว่าจ้าง คือ

1. ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดย นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์
2. นายกเทศมนตรีนครตรัง โดย นายชาลี กางอิ่ม
3. ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง โดย นายทักษิณ วิประกษิต
4. รองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการ จังหวัดตรัง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
โดย รองศาตราจารย์เพชราภรณ์ จันทรสูตร์

ลงนามในบันทึกการจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง คือ นายฤกษ์ชัย วรนิทัศน์ (ห้างหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด วรนิทัศน์)
โดยมี

- ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดย นายสงวน จันทรอักษร
- ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน โดย รองศาตราจารย์มานพ พราหมณโชติ
- รองอธิการบดีทั่วไป มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย รองศาตราย์อรุณทวดี พัฒนิบูลย์
- หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน วรนิทัศน์ โดย นายชัยทัต วรนิทัศน์
- ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจ แผนการตลาด ธนาคารกรุงไทย จำกัด จังหวัดสุรินทร์ โดย นายสามัคคี สารจันทร์

เป็นสักขีพยานลงนามในบันทึกการจ่ายเงินค่าจ้างด้วย หลังจากพิธีมอบเงินค่าก่อสร้าง ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมอบหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แก่ นายแปลก กาญจนพรหม และเป็นพิธีการแถลงข่าวปิดโครงการก่อสร้างอาคารมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง ในเบื้องต้นนี้